กล้องเวบบ์ใช้ค้นหาบรรยากาศรอบดาวเคราะห์

หลังจากการค้นพบระบบดาวเคราะห์ 7 ดวงชื่อแทรปพิสต์-วัน (TRAPPIST–1) ซึ่งมีดาวเคราะห์หินขนาดเทียบเท่าโลกโคจรรอบดาวฤกษ์ ที่สำคัญคือพบว่ามีดาวเคราะห์ 3 ดวงโคจรอยู่ในเขตเอื้ออาศัยอยู่ได้ เป็นไปได้ที่ดาวอยู่ในระยะวงโคจรที่ใช่และมีความอบอุ่นพอจะมีน้ำที่อยู่ในสถานะของเหลวบนพื้นผิวดาว

เมื่อเร็วๆนี้ นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์การบินอวกาศก็อดเดิร์ด ในสหรัฐอเมริกา เผยว่าในปี พ.ศ.2564 หลังจากปล่อยกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ขององค์การนาซาขึ้นสู่วงอวกาศ กล้องทรงพลังตัวนี้จะสำรวจดาวเคราะห์นอกระบบเหล่านั้น โดยตั้งเป้าศึกษารายละเอียดของบรรยากาศของดาวเคราะห์ที่อาศัยอยู่ได้ ซึ่งในการค้นหาสัญญาณของชั้นบรรยากาศ นักวิทยาศาสตร์จะใช้เทคนิคสเปกโตรสโคป สำรวจดาวฤกษ์แม่ขณะที่ดาวเคราะห์โคจรผ่านหน้าดาวฤกษ์ แสงของดาวฤกษ์จะถูกกรองผ่านชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ โดยบางดวงจะดูดซับแสงและทิ้งร่องรอยในแถบแสงแยกสีหรือสเปกตรัมของดาว

การค้นหาบรรยากาศรอบดาวเคราะห์หินนอกระบบไม่ใช่เรื่องง่าย แต่แทรปพิสต์-วัน ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ดีที่สุดของกล้องเจมส์เวบบ์ เพราะดาวฤกษ์มีขนาดค่อนข้างเล็ก นั่นหมายความว่าขนาดของดาว เคราะห์เมื่อเทียบกับดาวฤกษ์นั้นใหญ่กว่า มีการกำหนดว่ากล้องจะตรวจจับบรรยากาศของ แทรปพิสต์-วันดี (TRAP PIST-1d) และแทรปพิสต์วันเอฟ (TRAPPIST-1f) รวมถึงคาดว่าจะสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างบรรยากาศที่ถูกครอบครองด้วยไอน้ำหรือประกอบด้วยไนโตรเจนแบบโลกของเรา หรือมีคาร์บอนไดออกไซด์แบบที่พบบนดาวอังคารและดาวศุกร์